โรงเรียนวิเชียรชม ตั้งชื่อตามนามของเจ้าเมืองสงขลา พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา)
พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) มีนามเดิมว่า “ชม” เป็นเจ้าเมืองสงขลาคนที่ 8 (พ.ศ. 2431-2447) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองคนสุดท้าย ชาวเมืองสงขลาให้สมญานามว่า "เจ้าจอมเมือง" มีราชทินนามว่า "พระยาวิเชียรคีรีศรีสมุท วิสุทธิศักดา มหาพิไชยสงครามรามภักดี อภัยพิริยบรากรมภาหุ"
พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) เป็นบุตรคนโตของพระยาสุนทรนุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลากับคุณหญิงพับ เกิดที่เมืองสงขลา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2397 ณ บ้านป่าหมาก (ปัจจุบันคือที่ตั้งศาลจังหวัดสงขลา)
เริ่มเรียนหนังสือกับเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) เมื่ออายุ 11 ปี ในปี พ.ศ. 2407 ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 4 เป็นมหาดเล็กหลวงเวรฤทธิ์ รับราชการในกรุงเทพฯ ได้ 2 ปี ก็ลาออกมาศึกษา
วิชาการอื่นๆ ที่สงขลา เช่น วิชาช่างไม้ ยุทธศาสตร์การยิงปืน โหราศาสตร์ แพทยศาสตร์พื้นบ้าน สมุทรศาสตร์การเดินเรือ การถ่ายรูป ช่างเหล็ก ช่างทองและการทำแผนที่ทั้งกับครูไทย และครูชาวต่างประเทศหลายคน จนมีความเชี่ยวชาญ
อายุได้ 16 ปี (พ.ศ. 2413) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงวิเศษภักดี (ชม) ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา
อายุ 21 ปี ลาอุปสมบทสำนักอาจารย์แดง วัดดอนรัก ถึงปี พ.ศ. 2431 จึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็นพระยาสุนทรานุรักษ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ถือศักดินา 1500 รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการเมืองสงขลา
10 มกราคม พ.ศ. 2433 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาวิเชียรคีรี ศรีสมุทวิสุทธิศักดามหาพิไชยสงครามรามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ" ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ถือศักดินา 5000 พร้อมกับรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
รับราชการต่อมาอีก 13 ปี ในปี พ.ศ. 2444 เลื่อนเป็นจางวางเมืองสงขลา รับพระราชทานเบี้ยบำนาญปีละ 8,000 บาท สูงกว่าเงินเดือนเดิมหลายเท่าตัว และ 3 ปี ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447 ก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอายุ 50 ปี
สืบเนื่องจาก 8 บรรพบุรุษสกุล ณ สงขลา เมื่อ พ.ศ. 2318 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงสุวรรณคีรี (เหยี่ยง แซ่เฮา) เป็นผู้ปกครองเมืองสงขลา ต่อมาบุตรและหลานของพระยาสุวรรณคีรี (บรรดาศักดิ์ต่อมา) ได้รับช่วงเป็นเจ้าเมืองสงขลาถึง 8 คน ติดต่อกัน 8 สมัย ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เป็นเวลา 121 ปี เจ้าเมืองในตระกูล ณ สงขลา มีดังต่อไปนี้
* พระยาสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง แซ่เฮา) พ.ศ. 2318-2327
* เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย) พ.ศ. 2327-2355
* พระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) พ.ศ. 2355-2360 สายสกุล "โรจนะหัสดิน"
* พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) พ.ศ. 2360-2390
* เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสัง) พ.ศ. 2390-2408
* เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) พ.ศ. 2408-2427
* พระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม) พ.ศ. 2427-2431
* พระยาวิเชียรคีรี (ชม) พ.ศ. 2431-2444
พระยาวิเชียรคีรี (ชม) สมรสกับ คุณหญิงสมบุญวิเชียรคีรี ธิดาของ ท่านปั้น วัชราภัย มีธิดา 4 คน ได้แก่
* คุณหญิงช่วง สมรสกับ พระยาสวัสดิ์คีรีศรีสมันตราษฎร์นายก (เย็น สุวรรณปัทมะ)
* คุณหญิงพจนาวิลาศ (เชย) สมรสกับ พระยาพจนาวิลาส (แปะ นิโรดม)
* นางชนานุกูลกิจ (สงวน) สมรสกับ หลวงชนานุกูลกิจ (จวง จารุจินดา)
* นางเพชรคีรีศรีราชสงคราม สมรสกับ พระเพชรคีรีศรีราชสงคราม (เจ้าแก้วเมืองไท ณ ลำปาง) มีผู้สืบสกุลต่อมา คือ เจ้าเชิดกาวิละ และเจ้าเดชา ณ ลำปาง[5]
พระยาวิเชียรคีรี (ชม) มีบุตร 3 คน ไม่ปรากฏชื่อมารดา ได้แก่
* พระยาวิชุโชติชำนาญ (ปรง ณ สงขลา) เจ้ากรมไฟฟ้าหลวง
* พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ทิตย์ ณ สงขลา) เจ้ากรมสวนหลวง สมรสกับ คุณหญิงลิ้ม ธิดาพระอนันต์สมบัติ (เอม ณ สงขลา)
* พระยาสุรกานต์ประทีปแก้ว (หนิ ณ สงขลา)
Cr. วิกิพิเดีย